ครกคู่ครัวไทย มานานหลายร้อยปี ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ที่สืบต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ครกมิใช่เป็นเพียงอุปกรณ์ การทำครัว ซึ่งมีความสำคัญต่อ การปรุงอาหารให้มีรสชาติแบบไทยเท่านั้น แต่ยังมีความหมายทางวัฒนธรรมที่เราควรรู้จักและเห็นคุณค่า ก่อนที่ครกจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องบดแบบฝรั่งไปเสียหมด
สมัยก่อน ฝ่ายหญิงมีหน้าที่เลี้ยงลูก ดูแลเรื่องอาหารการกิน และความเป็นอยู่ในบ้าน การเลือกหญิงใดมาเป็นภรรยา
จึงมิได้อยู่ที่ความพึงพอใจเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงคุณสมบัติของการเป็นแม่บ้านแม่เรือนด้วย โดยที่ครกมีบทบาทสำคัญ ในการชี้คุณสมบัติ โดยดูจากความสามารถในการใช้ครก คนโบราณจึงกล่าวว่า หากอยากได้ลูกสาวใครมาเป็นสะใภ้ ให้แอบฟังเสียงตำน้ำพริกของสาวนั้น ถ้าเสียงตำน้ำพริกถี่และเร็ว แสดงว่าเป็นคนว่องไว มีความเฉลียวฉลาด มีมานะ ทำอะไรไม่หยิบโหย่ง เอาจริงเอาจัง เป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี แต่ถ้าเสียงตำฟังเชื่องช้าและตำไม่สม่ำเสมอ ก็ให้สัณนิษฐานว่า ลูกสาวบ้านนั้น ไม่ชำนาญการครัว ยังเป็นแม่บ้านที่ดีไม่ได้
ในภาคเหนือ วิธีการตำน้ำพริกที่ถูก คือให้ตำข้าง ๆ ครก คนล้านนาเชื่อว่า ถ้าตำแรงจนครกแตก ถือว่า ขึดหรืออัปมงคล ไม่ดี ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว หากตำน้ำพริก จนครกแตก ต้องแก้ด้วยการบวชชี จึงจะพ้นจากขึด
มาถึงสมัยนี้เห็นทีจะใช้วิธีนี้ ไม่ได้ผลเสียแล้ว เพราะเครื่องบดไฟฟ้า กำลังมาแทนที่เครื่องบดดั้งเดิมของคนไทย และยุคสมัยก็เปลี่ยนแปลงไปมาก การเลือกคู่ครองถูกกำหนดโดยความพึงพอใจของหนุ่มสาวและเหตุผลอื่นมากกว่าคุณสมบัติในกรเป็นแม่บ้านแม่เรือน เสียงตำน้ำพริกซึ่งครั้งหนึ่งเคยดังจากมือสาวเจ้าอย่างภาคภูมิใจ จึงค่อย ๆ แผ่วเบาลงไปเรื่อย ๆ
ครกที่ใช้กันอยู่ในครัวเรือน มีอยู่ 2 ประเภท คือ ครกกระเบือ หรือครกที่ทำจากดินเผา และ ครกหิน ซึ่งครกทั้งสองประเภท ต่างมีความเป็นมาและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีครกที่ทำจากไม้ เช่น ครกตำข้าวแบบดั้งเดิม ของไทยที่ตอนนี้หาดูได้ยาก ทำจากไม้ทั้งท่อนแล้วขุดเจาะ ให้เป็นแอ่งลึก เอาไว้ตำข้าวไว้กินในครัวเรือน ซึ่งหากใครตำข้าวพอกินไปวัน ๆ ก็จะถูกปรามาสว่า "ตำข้าวสารกรอกหม้อ" หมายถึง เป็นคนเกียจคร้านสิ้นดี แม้แต่จะเตรียมข้าวสารไว้หุงกิน ก็ตำพอกรอกหม้อไปวัน ๆ หรือเป็นมื้อ ๆ ไป